การวางแผนการเงินที่สมาชิกครอบครัวร่วมมือกันทำได้
- ตั้งเป้าหมายร่วมกันให้ชัดเจน
- แชร์รายละเอียดรายรับรายจ่ายของกันและกัน
- ทำงบแสดงสถานะการเงินร่วมกัน
- จัดการหนี้สิน
- วางแผนเกษียณ
- ติดตามผล
ชีวิตคู่ที่ดี นอกจากความรักและความซื่อสัตย์ ต้องมีแผนการเงินที่ดีด้วย
เพราะแทบทุกสิ่งอย่างในโลกต้องใช้เงิน การวางแผนการเงินจึงเท่ากับการวางแผนชีวิต เพราะมันเกี่ยวพันตั้งแต่การจัดการหนี้สินไปจนถึงการวางอนาคตของเพื่อนๆ และคู่ครองในยามแก่เฒ่าว่าจะใช้ชีวิตกันอย่างไร ซึ่งถ้าคู่ไหนเริ่มวางแผนเร็ว อนาคตที่ดีก็จะเกิดขึ้นเร็วครับ
ส่วนคู่ที่ไม่ได้วางแผนทางการเงิน ก็มีโอกาสสูงที่พัวพันกับหนี้สินที่ไม่รู้จบ ลงท้ายที่ไม่มีเงินเก็บในยามแก่ ทำให้บั้นปลายชีวิตอยู่ลำบาก และที่น่ากลัวสุดคือ ลูกหลานของเพื่อนๆ อาจจะซึมซับนิสัยการใช้เงินที่ผิดมาจากเรา ทำให้เกิดวงจรหนี้จนจากรุ่นสู่รุ่นไปเรื่อยๆ
เพื่ออนาคตที่ดีของเพื่อนๆ และสมาชิกในครอบครัว มาเริ่มต้นวางแผนการเงินกันครับ เดี๋ยวพี่หมีจะค่อยๆ อธิบายแต่ละขั้นตอนให้ รับรองว่าไม่ยากครับ
1. ตั้งเป้าหมายในครอบครัวร่วมกันให้ชัดเจน

เมื่อคนสองคนตัดสินใจใช้ชีวิตคู่กัน ย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา โดยเฉพาะคนที่เริ่มมีลูก ก็จะกลายเป็นครอบครัวที่มีการจัดโครงใหม่ ตรงนี้แหละครับที่ทั้งสองคนต้องเปิดอกคุยกันว่า เป้าหมายของเราคืออะไร ซึ่งพี่หมีแนะนำให้ต่างคนต่างเขียนเป้าหมายออกมาบนกระดาษก่อน จากนั้นนำมาคุยกันและจัดลำดับความสำคัญร่วมกันครับ
เพื่อการตั้งเป้าหมายที่ดีและมีประสิทธิภาพ พี่หมีอยากแนะนำให้ใช้หลักการ SMART ดังนี้ครับ
- Specific - ชัดเจน: การตั้งเป้าหมายทางการเงินที่ดีต้องชัดเจนและจำกัดความได้ง่าย
- Measurable - วัดผลได้: เป้าหมายที่ดีต้องวัดได้ด้วยครับว่าระหว่างทางเราไปถึงไหนแล้ว ถ้าเพื่อนๆ ตั้งเป้าหมายว่า มีเงินสำรองฉุกเฉิน นั่นไม่สามารถวัดได้นะครับ แต่ถ้าตั้งว่า มีเงินสำรองฉุกเฉินจำนวน 300,000 บาท แบบนี้ก็จะวัดได้ เพราะมีตัวเลขระบุชัดเจน
- Attainable - สำเร็จได้จริง: เป้าหมายที่ดีควรทำให้รู้สึกตื่นเต้นที่จะบรรลุอยู่ตลอดเวลา และไม่ควรตั้งเป้าหมายเกินตัว เพราะจะทำให้รู้สึกเหนื่อยจนสุดท้ายต้องยอมแพ้
- Reasonable - อยู่บนพื้นฐานความจริง: เป้าหมายที่ดีต้องสมเหตุสมผล อิงจากสถานการณ์ปัจจุบันของตัวเอง
- Timely - ทำได้ในเวลาที่กำหนด: กรอบเวลาจะช่วยกระตุ้นให้เพื่อนๆ ทำให้สำเร็จครับ
กรณีที่เพื่อนๆ ตั้งเป้าหมายกันได้แล้ว แต่ดันมีเยอะซะเหลือเกิน พี่มีก็แนวทางการจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายมานำเสนอครับ
- เป้าหมายสำคัญมาก เป็นเป้าหมายที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตตัวเองและครอบครัวอย่างมีนัยสำคัญ โดยมักเป็นเรื่องของสภาพคล่องหรือการป้องกันความเสี่ยง เช่น ค่าเทอมลูก เงินออมสำรองฉุกเฉิน ประกันชีวิต/สุขภาพ แผนเกษียณ
- เป้าหมายสำคัญปานกลาง เป็นเป้าหมายที่ถ้าทำไม่สำเร็จก็อาจส่งผลกระทบบ้างแต่ไม่มาก เช่น ตกแต่งบ้านใหม่ ซื้อรถคันที่สอง
- เป้าหมายสำคัญน้อย เป็นเป้าหมายที่เน้นสนองความต้องการของตัวเองล้วนๆ เช่น ทริปต่างประเทศ Gadget ต่างๆ หรือของแบรนด์เนม
พอได้เป้าหมายที่ต้องการบรรลุพร้อมลำดับความสำคัญได้แล้ว ก็มาต่อกันที่สเต็ปสองครับ
2. แชร์รายละเอียดรายรับรายจ่ายของกันและกัน
เมื่อเป็นครอบครัวเดียวกันก็ไม่ควรจะมีความลับต่อกัน โดยเฉพาะเรื่องการเงิน พี่หมีแนะนำว่าทั้งสองคนควรทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายร่วมกันอย่างน้อยล่วงหน้า 6 เดือน เพื่อให้เห็นที่มาที่ไปของเงินและช่วยบริหารสภาพคล่องทางการเงินให้ง่าย และถ้าให้ดี ควรตั้งงบประมาณร่วมกันเลยครับว่าแต่ละเดือนควรมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ใครรับผิดชอบส่วนไหน และทำตามแผนนั้นครับ
3. ทำงบแสดงสถานะการเงินร่วมกัน
งบแสดงสถานะการเงินจะแตกต่างกับบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพราะจะทำให้เพื่อนๆ เห็นภาพใหญ่กว่าว่าตอนนี้ตัวเองมีทรัพย์สินหรือหนี้สินเท่าไหร่ ซึ่งควรทำสักประมาณปีละครั้ง พี่หมีทำตารางมาให้ ลองนำไปปรับใช้กับของตัวเองกันได้นะครับ
งบแสดงสถานะการเงินของพี่หมีและแฟน ประจำปี 2020
เงินเดือน (เมื่อรวมกับแฟน) 140,000 บาท
|
|
||||
---|---|---|---|---|---|
รายการ | มูลค่า | รายรับ (ถ้ามี) | รายการ | ยอดค้าง | ยอดจ่ายขั้นต่ำ |
เงินฝาก | 100,000 | - | หนี้บัตรเครดิต | 80,000 | 8,000 / เดือน |
บ้าน | 4,000,000 | - | กู้ซื้อบ้าน | 2,000,000 | 25,000 / เดือน |
คอนโด | 1,800,000 | 10,000 / เดือน | กู้ซื้อคอนโด | 800,000 | 12,000 / เดือน |
รถยนต์ | 1,200,000 | - | กู้ผ่อนรถ | 950,000 | 16,000 / เดือน |
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ | 120,000 | - | |||
ทรัพย์สินรวม | 6,820,000 | 120,000 / ปี | หนี้สินรวม | 3,830,000 | 61,000 / เดือน |
จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่าสุขภาพการเงินของครอบครัวพี่หมีอยู่ในเกณฑ์พอใช้ มีหนี้บ้าน รถ และบัตรเครดิตที่ต้องผ่อนจ่ายเกือบๆ ครึ่งนึงของเงินเดือนทั้งสอง แต่ก็แอบน่าเป็นห่วงนิดหน่อย เพราะถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา การเงินก็จะฝืดเคือง แม้จะพอมีรายได้จากคอนโดอยู่บ้าง แต่โฟกัสของครอบครัวพี่หมี ณ ตอนนี้คือควรรีบปลดหนี้บัตรเครดิตให้หมดครับ
นอกจากนี้ งบแสดงสถานะการเงินที่ดีนั้นควรให้มีทรัพย์สินที่มากกว่าหนี้สิน ถ้าทำออกมาแล้วหนี้สินเยอะ ก็อย่าเพิ่งเครียดไปนะครับ ค่อยๆ หาวิธีแก้หนี้และมาดูพัฒนาการกันในแต่ละปีก็ได้
4. จัดการหนี้สิน
พอทำงบแสดงสถานะทางการเงินกันแล้ว คนส่วนใหญ่ก็จะมาค้นพบว่าปัญหาหลักคือเรื่องหนี้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติครับ เพราะหนี้ก็แบ่งได้สองแบบ คือหนี้รวย ได้แก่หนี้ที่สร้างรายได้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ (เหมือนในตารางที่พี่หมีมีผ่อนคอนโด) กับหนี้จน คือหนี้บริโภค เช่น บัตรเครดิต
หลักคิดในการจัดการกับหนี้สินหลักๆ จะมีอยู่สองอย่างครับ คือ ลดรายจ่ายกับเพิ่มรายได้ ส่วนวิธีปฏิบัติคือให้เริ่มจากเขียนรายการหนี้ออกมาว่าเรามีหนี้อะไรอยู่บ้าง อัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่ ผ่อนจ่ายรายเดือนเท่าไหร่ จากนั้นก็ทยอยปลดหนี้ ซี่งพี่หมีแนะนำให้ทยอยปลดหนี้คงค้างที่จำนวนน้อยที่สุดก่อน เพราะเมื่อหมดหนี้ก้อนนั้น เราก็จะมีกำลังใจในการปลดหนี้ก่อนต่อๆ ไปจนหมดครับ
5. วางแผนเกษียณ

ทุกคนต้องมีวันที่เลิกทำงาน ไม่ว่าเป็นเพราะอยากเลิกเองหรือเพราะทำไม่ไหว แผนเกษียณจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อนๆ สามารถเริ่มต้นพูดคุยกับแฟนได้เลยครับว่าอยากเกษียณเมื่ออายุเท่าไหร่ จากนั้นก็มาดูกันครับว่าในช่วงอายุนั้นต้องใช้เงินประมาณเท่าไหร่ ซึ่งมีปัจจัยที่ต้องพิจารณา ดังนี้ครับ
- ค่าใช้จ่ายต่อเดือน: ลองสำรวจดูครับว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อเดือน อาทิ ค่าอาหาร ค่าสาธารณูปโภค จะอยู่ที่เท่าไหร่
- เงินเฟ้อ: เงิน 100 บาทในวันนี้กินอาหารตามสั่งได้สองจาน แต่อีก 20 ปีข้างหน้าอาจจะได้แค่จานเดียว ส่วนใหญ่มักคำนวณเงินเฟ้อกันไว้อยู่ที่ประมาณ 1.5 - 2 เท่าของเงิน ณ ปัจจุบัน หรือคิดอีกแบบ คือ ลดค่าใช้จ่ายปัจจุบันให้เหลือ 70% เช่น ตอนนี้มีค่าใช้จ่ายจำเป็นอยู่ทั้งหมด 40,000 บาท ในอนาคตเงินนี้จะมีค่าเพียง 28,000 บาท
- ระยะเวลาเกษียณ: นับจากช่วงอายุที่คิดว่าจะเกษียณ ลบกับอายุขัยโดยประมาณ เช่น จะเกษียณเมื่ออายุ 60 และคิดว่าอายุขัยจะประมาณ 80 แปลว่าระยะเวลาเกษียณของเพื่อนๆ คือ 20 ปีครับ
พอเรามีข้อมูลของ 3 สิ่งนี้ ให้นำมาคำนวณโดยใช้สูตรด้านล่าง ก็จะรู้ว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ในช่วงชีวิตวัยเกษียณครับ
(70% ของค่าใช้จ่ายปัจจุบัน) x 12 x จำนวนปีหลังเกษียณ = จำนวนเงินที่ต้องมี ณ วัยเกษียณ*
ถ้ายกตัวอย่างตามกรณีสมมติด้านบน จำนวนเงินที่พี่หมีต้องมีในวัยเกษียณจะตกอยู่ที่
(70% x 40,000) x 12 x 20 = 6,720,000
ใช่ครับ หกล้านเจ็ดแสนสองหมื่น!... นี่แหละครับสาเหตุที่ทำไมเราถึงควรเริ่มแผนเกษียณให้เร็วที่สุด เพราะต้องใช้เวลาออมเงินอีกยาวไกล ซึ่งพี่หมีแนะนำให้ลองดูกองทุนพวก RMF เป็นตัวตั้งต้นได้ รวมถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและการลงทุนแบบอื่นๆ ด้วยครับ
*ขอบคุณข้อมูลจาก SET
6. ติดตามผล
แผนที่ทำมาทั้งหมดจะไม่เวิร์กเลย ถ้าเราไม่ติดตามผลครับ พี่หมีแนะนำให้เพื่อนๆ กับแฟนนัดคุยกันเดือนละครั้ง หรือสามเดือนครั้งก็ได้ เพื่อมาดูว่าที่วางแผนกันไป อาทิ งบประมาณรายรับรายจ่าย เป็นไปตามแผนไหม มีค่าใช้จ่ายอะไรขึ้นมาฉับพลันรึเปล่า จะได้จัดการรับมือถูกครับ
เริ่มต้นด้วยเงินออมสำรองฉุกเฉิน
สำหรับเพื่อนๆ ที่อ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะรู้สึกว่าตอนนี้มีทั้งข้อมูลและเป้าหมายเยอะมาก ประมวลผลไม่ถูก พี่หมีขอแนะนำให้เริ่มที่เช็คตัวเองก่อนว่ามีเงินออมสำรองฉุกเฉินเพียงพอแล้วหรือยัง โดยเฉพาะในยุคนี้ที่ควรมีอย่างน้อย 6 เท่าของเงินเดือน ถ้ายังไม่มี หรือยังมีไม่ครบ พี่หมีแนะนำให้เปรียบเทียบและเปิดบัญชีเงินฝากกับเรา เพื่อผลตอบแทนที่งอกเงย กดปุ่มด้านล่างเพื่อดูบัญชีเงินฝากประจำและเงินฝากดอกเบี้ยสูงที่เหมาะกับเพื่อนๆ ได้เลยครับ
