วิธีบันทึกบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างง่ายๆ
- เริ่มต้นให้ถูกด้วยการทำบัญชีรายรับรายจ่าย
- ส่วนประกอบของบัญชีรายรับรายจ่าย
- จับข้อมูลทั้งสามลงตารางรายรับรายจ่าย
- เงินคงเหลือคือหัวใจสำคัญ
- อย่าลืมเช็ค เปรียบเทียบ และปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ
เพื่อนๆ เคยเป็นกันไหมครับ ต้นเดือนเป็นเศรษฐี พร้อมเปย์ทุกสิ่ง กลางเดือนเริ่มหวั่นๆ ไม่กล้ากินแพง ตกสิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ จำศีลยาวจนกว่าเงินเดือนรอบใหม่จะออก วนไปเรื่อยๆ เป็นวงจรเดือนชนเดือน ฟังแล้วอาจจะขำ แต่เอาเข้าจริงมันคือ ปัญหาทางการเงินชนิดหนึ่งที่หลายคนคิดว่าเกิดจากเงินเดือนไม่พอ แต่แท้จริงแล้วมันเกิดจากการบริหารจัดการเงินแบบผิดๆ หรือไม่เคยทำเลย

เริ่มต้นให้ถูก ด้วยการทำบัญชีรายรับรายจ่าย
การทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นเรื่องพื้นฐานที่จำเป็นมากๆ ในการวางแผนการเงิน เพราะจะช่วยให้รู้ถึงที่มาที่ไปของเงินและจัดสรรให้มีกิน มีใช้ มีเก็บ นอกจากนี้ ในแต่ละเดือน คนเราจะมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน บางเดือนก็ได้คอมมิชชั่น ได้โบนัส หรือบางเดือนก็มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ แทรกขึ้นมา อาทิ ค่าเบี้ยประกัน ค่าส่วนกลางคอนโด ซึ่งถ้าเราไม่วางแผนเอาไว้ก่อน อาจลงเอยด้วยใช้เงินที่ได้มาจนหมด หรือเกิดภาวะช็อตเพราะเงินไม่พอใช้
ส่วนประกอบของบัญชีรายรับรายจ่าย
โดยทั่วไปแล้ว บัญชีรายรับรายจ่ายจะประกอบไปด้วย 3 สิ่ง ที่เพื่อนๆ ต้องรู้และบันทึกไว้สม่ำเสมอ ดังนี้ครับ
-
รายรับ (Income)
คือ เงินที่เพื่อนๆ ได้รับมาในแต่ละเดือน อาทิ เงินเดือนจากงานประจำ ค่าจ้างจากการทำงานฟรีแลนซ์ คอมมิชชั่น โบนัส เงินปันผลจากการลงทุน รวมไปถึงกำไรจากธุรกิจต่างๆ
-
รายจ่าย (Expense) ในส่วนนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ข้อย่อย ได้แก่
- รายจ่ายคงที่ (Fixed Expense) คือ รายจ่ายประจำที่ต้องชำระทุกเดือน มักมีจำนวนกำหนดไว้แน่นอน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนบัตรเครดิต ค่าน้ำ-ไฟ เงินเดือนให้พ่อแม่ ค่าประกันชีวิต ค่าซื้อกองทุน
- รายจ่ายผันแปร (Variable Expense) คือ รายจ่ายทั่วไป ปรับเปลี่ยนได้ง่ายตามสถานการณ์ เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าช็อปปิ้ง ช่วงแรกๆ อาจประเมินยากนิดนึง พี่หมีแนะนำให้ใส่เลขแบบประมาณไปก่อนได้ พอบันทึกติดๆ กันไปสักเดือนสองเดือน เราก็จะรู้ตัวเลขที่แม่นยำขึ้น แล้วค่อยมาปรับในบัญชีรายรับรายจ่ายของตัวเองอีกทีครับ
-
เงินออม (Saving)
การออมเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้สองอย่างแรก เพื่อนๆ ควรเผื่อเงินออมไว้ด้วยครับ อย่างน้อยสัก 10% ของรายรับก็ยังดี เพื่อเป็นเงินสำรองฉุกเฉิน ไว้ลงทุนเพื่อผลตอบแทนในอนาคต หรือเพื่อเป้าหมายในชีวิตต่างๆ ครับ
จับข้อมูลทั้งสามลงตารางรายรับรายจ่าย
เมื่อได้ข้อมูลของรายรับ รายจ่ายคงที่ รายจ่ายผันแปร และเงินออม ขั้นตอนต่อไปก็ไม่ยากแล้วครับ คือ นำข้อมูลทั้งหมดมาใส่ลงตาราง ตามรูปแบบนี้ครับ
งบรายรับ-รายจ่ายประจำเดือนของพี่หมี
รายการ | กันยายน | ตุลาคม | พฤศจิกายน | ธันวาคม |
---|---|---|---|---|
รายรับ | ||||
เงินเดือน | 40,000 | 40,000 | 40,000 | 40,000 |
งานเสริม | 10,000 | |||
เงินออม (10%) | 5,000 | 4,000 | 4,000 | 4,000 |
ค่าใช้จ่ายคงที่ | ||||
ผ่อนคอนโด | 12,000 | 12,000 | 12,000 | 12,000 |
น้ำ-ไฟ-เน็ต | 2,000 | 2,000 | 2,000 | 2,000 |
ค่าโทรศัพท์ | 800 | 800 | 800 | 800 |
บัตรเครดิต | 8,000 | 8,000 | 8,000 | 8,000 |
ซื้อประกัน | 20,000 | |||
ค่าใช้จ่ายผันแปร | ||||
อาหาร | 7,000 | 7,000 | 7,000 | 7,000 |
เดินทาง | 2,000 | 2,000 | 2,000 | 2,000 |
ช็อปปิ้ง | 5,000 | 5,000 | 5,000 | 5,000 |
ปาร์ตี้กับเพื่อน | 5,000 | 5,000 | 5,000 | 5,000 |
เงินคงเหลือ | 13,200 | 2,200 | 2,200 | -17,800 |
เพื่อประสิทธิภาพ พี่หมีแนะนำให้ทำตารางแบบนี้ไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 3-6 เดือน จะได้วางแผนการเงินได้ดีขึ้นครับ
เงินคงเหลือ คือหัวใจสำคัญ
พอใส่ตัวเลขลงไปทั้งหมดแล้ว ให้มาโฟกัสที่ช่อง เงินคงเหลือ ครับ จะได้เห็นเลยว่าในแต่ละเดือนเรามีเงินเหลือกี่บาท เดือนไหนสภาพคล่องอู้ฟู่ เดือนไหนพอดี หรือเดือนไหนติดลบ และเราจะจัดสรรเงินเหล่านั้นอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ
อย่างกรณีตารางด้านบน จะเห็นได้ว่าช่วงเดือนธันวาคม พี่หมีจะมีสภาพคล่องติดลบ เพราะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันรายปี เมื่อรู้ล่วงหน้ามาหลายเดือนขนาดนี้ พี่หมีก็จะวางแผนจัดการซึ่งมีหลายวิธี เช่น เก็บเงินคงเหลือของเดือนกันยายน - พฤศจิกายน มารวมกัน ลดการช็อปปิ้งและปาร์ตี้กับเพื่อน หรือหางานเสริมทำเพื่อให้มีรายได้พอจ่ายค่าประกัน เป็นต้น
หรืออีกกรณี สมมติพี่หมีสภาพคล่องเป็นบวกตลอดทุกเดือน เงินคงเหลือเหล่านี้ก็ควรถูกนำมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์เช่นกันนะครับ ไม่ใช่ว่าเหลือแล้วเอาไปใช้สุรุ่ยสุร่ายจนหมด พี่หมีมีแนวทางแนะนำให้ ดังนี้ครับ
- สมทบเงินออม จากที่ออมอยู่แล้วทุกเดือน ก็นำเงินเหลือใช้ไปใส่ในบัญชีเพิ่ม
- นำไปลงทุน อาทิ หุ้น ทอง กองทุน RMF หรือ SSF เพื่อลดหย่อนภาษีและรับผลตอบแทนในอนาคต
- สมทบตามเป้าหมาย เช่น อยากได้หูฟังใหม่ อยากได้มอเตอร์ไซค์ พี่หมีแนะนำให้สร้างอีกบัญชีและหย่อนเงินที่เหลือลงไป ก็จะช่วยสานฝันให้เป็นจริงเร็วขึ้น
- ใช้จ่ายเพื่อให้รางวัลตัวเอง อาจเป็นการช็อปปิ้งด้วยงบที่เพิ่มขึ้น หรืออาหารดีๆ สักมื้อ เพื่อเติมเต็มความสุขให้ชีวิตครับ
อย่าลืมเช็ค เปรียบเทียบ และปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ
บัญชีรายรับรายจ่ายเหล่านี้จะไม่มีความหมายเลย ถ้าเพื่อนๆ ไม่ทำตามตัวเลขที่กำหนดไว้ พี่หมีขอให้แนวทางปฏิบัติดังนี้ครับ
- ตรวจเช็คตัวเลขตั้งแต่ต้นเดือน ว่ารายรับตรงกับที่กำหนดไว้หรือไม่
- เปรียบเทียบการใช้จ่ายจริงกับตัวเลขในตารางว่าสมดุลกันหรือไม่ สำหรับมือใหม่ แนะนำให้จดบันทึกรายวันไปเลยครับว่าใช้เงินไปกับอะไรบ้าง ตอนสิ้นเดือนจะได้นำมารีวิวแบบละเอียดและรู้ว่าค่าใช้จ่ายไปกองตรงไหนมากที่สุด
- ปรับปรุงตัวเลขให้เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ บางเดือนอาจมีรายรับเพิ่มจากงานพิเศษ หรือมีรายจ่ายอื่นๆ งอกขึ้นมาโดยไม่คาดคิด ก็ปรับตัวเลขให้เข้ากับสถานการณ์นั้นๆ ครับ
ทั้งหมดนี้ก็เป็นวิธีการทำตารางบัญชีรายรับรายจ่ายแบบง่ายๆ ที่พี่หมีอยากให้เพื่อนๆ ลองทำตามกันนะครับ เพราะมันเป็นสิ่งจะทำให้การบริหารจัดการเงินของเพื่อนๆ ดีขึ้นได้อย่างก้าวกระโดด และจะได้หลุดออกจากวงจรเดือนชนเดือนอีกด้วย
เมื่อการเงินไม่ติดลบ ชีวิตจะมีความสุขขึ้นจริงๆ ครับ พี่หมีการันตี ที่สำคัญอย่าลืมมาวางแผนออมเงินกับพี่หมีโดยเพื่อนๆ สามารถเช็คประกันออมทรัพย์ รวมทั้งดูข้อมูลเกี่ยวกับประเภทของการประกันชีวิตจะช่วยให้เพื่อนๆ มีวินัยในการออมมากขึ้นได้ที่เว็บไซต์ GoBear ของพี่หมีนี่เองครับ
